เมนู

พระอภิธรรมปิฎก ธัมมสังคณี [3. นิกเขปกัณฑ์] สุตตันติกทุกนิกเขปะ
25. ขันติทุกะ
[1348] ขันติ เป็นไฉน
ความอดทน กิริยาที่อดทน ความอดกลั้น ความไม่ดุร้าย ความไม่เกรี้ยวกราด
ความแช่มชื่นแห่งจิต นี้เรียกว่าขันติ
[1349] โสรัจจะ เป็นไฉน
ความไม่ล่วงละเมิดทางกาย ความไม่ล่วงละเมิดทางวาจา ความไม่ล่วงละเมิด
ทางกายและทางวาจา นี้เรียกว่าโสรัจจะ แม้ความสำรวมในศีลทั้งหมดก็ชื่อว่า
โสรัจจะ
26. สาขัลยทุกะ
[1350] ความมีวาจาอ่อนหวาน เป็นไฉน
วาจาใดเป็นปม เป็นกาก เผ็ดร้อนต่อผู้อื่น เกี่ยวผู้อื่นไว้ ยั่วให้โกรธ ไม่เป็นไป
เพื่อสมาธิ ละวาจาเช่นนั้นเสีย วาจาใด ไร้โทษ สบายหู ไพเราะจับใจ เป็นวาจาของ
ชาวเมือง เป็นที่เจริญใจของชนหมู่มาก กล่าววาจาเช่นนั้น ความเป็นผู้มีวาจา
อ่อนหวาน ความเป็นผู้มีวาจาสละสลวย ความเป็นผู้มีวาจาไม่หยาบคาย ใน
ลักษณะดังกล่าวมานั้น นี้เรียกว่าความมีวาจาอ่อนหวาน
[1351] การปฏิสันถาร เป็นไฉน
ปฏิสันถาร 2 คือ อามิสปฏิสันถาร และธรรมปฏิสันถาร
บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้มีปฏิสันถารด้วยอามิส หรือมีปฏิสันถารด้วย
ธรรม นี้เรียกว่าปฏิสันถาร
27. อินทริเยสุอคุตตทวารตาทุกะ
[1352] ความเป็นผู้ไม่คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย เป็นไฉน
ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ เห็นรูปด้วยตาแล้วรวบถือ1 แยกถือ2 ไม่ปฏิบัติ
เพื่อสำรวมจักขุนทรีย์ ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้วก็จะเป็นเหตุให้บาปอกุศลธรรมคือ

เชิงอรรถ :
1 คำว่า รวบถือ (นิมิตฺตคฺคาหี) คือมองภาพรวมโดยไม่พิจารณาลงไปในรายละเอียด เช่นมองว่า รูปนั้นสวย
รูปนี้ไม่สวย
2 คำว่า แยกถือ (อนุพฺยญฺชนคฺคาหี) คือมองแยกพิจารณาเป็นส่วน ๆ ไป เช่น ตาสวย แต่จมูกไม่สวย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 34 หน้า :337 }


พระอภิธรรมปิฎก ธัมมสังคณี [3. นิกเขปกัณฑ์] สุตตันติกทุกนิกเขปะ
อภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ ไม่รักษาจักขุนทรีย์ ไม่ถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์
ฟังเสียงด้วยหู ฯลฯ ดมกลิ่นด้วยจมูก ฯลฯ ลิ้มรสด้วยลิ้น ฯลฯ ถูกต้องโผฏฐัพพะ
ด้วยกาย ฯลฯ รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว รวบถือ แยกถือ ไม่ปฏิบัติเพื่อ
สำรวมมนินทรีย์ ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้วก็จะเป็นเหตุให้บาปอกุศลธรรมคืออภิชฌา
และโทมนัสครอบงำได้ ไม่รักษามนินทรีย์ ไม่ถึงความสำรวมในมนินทรีย์ ความไม่
คุ้มครอง กิริยาที่ไม่คุ้มครอง ความไม่รักษา ความไม่สำรวม นี้เรียกว่าความเป็น
ผู้ไม่คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย1
[1353] ความเป็นผู้ไม่รู้จักประมาณในการบริโภค เป็นไฉน
ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ ไม่พิจารณาโดยแยบคาย บริโภคอาหารเพื่อเล่น
เพื่อความมัวเมา เพื่อประเทืองผิว เพื่อความอ้วนพี ความเป็นผู้ไม่สันโดษ ความ
เป็นผู้ไม่รู้จักประมาณ ความไม่พิจารณาในการบริโภคนั้น นี้เรียกว่าความเป็นผู้
ไม่รู้จักประมาณในการบริโภค2
28. อินทริเยสุคุตตทวารตาทุกะ
[1354] ความเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย เป็นไฉน
ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ เห็นรูปด้วยตาแล้วไม่รวบถือ ไม่แยกถือ ย่อม
ปฏิบัติเพื่อสำรวมในจักขุนทรีย์ ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้วก็จะเป็นเหตุให้บาปอกุศลธรรม
คืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ ย่อมรักษาจักขุนทรีย์ ย่อมถึงความสำรวมใน
จักขุนทรีย์ ฟังเสียงด้วยหู ฯลฯ ดมกลิ่นด้วยจมูก ฯลฯ ลิ้มรสด้วยลิ้น ฯลฯ ถูกต้อง
โผฏฐัพพะด้วยกาย ฯลฯ รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว ไม่รวบถือ ไม่แยกถือ ย่อม
ปฏิบัติเพื่อสำรวมในมนินทรีย์ ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้วก็จะเป็นเหตุให้บาปอกุศลธรรม
คืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ ย่อมรักษามนินทรีย์ ย่อมถึงความสำรวมใน
มนินทรีย์ ความคุ้มครอง กิริยาที่คุ้มครอง ความรักษา ความสำรวม นี้เรียกว่า
ความเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย3

เชิงอรรถ :
1 อภิ.วิ. 35/517/298,905/440, อภิ.สงฺ.อ. 456-457 2 อภิ.วิ. 35/518/299
3 อภิ.วิ. 35/517/298.

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 34 หน้า :338 }